- อย่างที่ทุกคนรู้กันดีว่าเชื้อโควิด-19 นั้นมีมากมายหลายสายพันธุ์ แถมพัฒนาอย่างต่อเนื่องไม่มีวันหยุด เหมือนกับว่าอยากเป๊ะปัง อยากอินเทรนด์ อยากจึ้ง! แบบไม่ตกยุคและไม่อยากจะน้อยหน้ากับเทคโนโลยีที่กำลังก้าวหน้ายังไงยังงั้น
ซึ่งเชื้อโคโรนาไวรัสที่ว่ากำลังระบาดและได้รับผลกระทบกันทั่วทุกประเทศ ตั้งแต่ไทย จีน อเมริกา อังกฤษ อินเดีย ฯลฯ แถมมีการแพร่ระบาดอยู่หลายเวฟ หรือพอเชื้อสายพันธุ์เก่าซาลงแล้ว อยู่ ๆ ก็มีสายพันธุ์ใหม่เข้ามาใหม่อีก แบบที่ว่าไม่ต้องพักกันทีเดียว…
โดยในไทยนั้น เราคงเห็นข่าวการแพร่ระบาดของเชื้อโควิดสายพันธุ์ต่าง ๆ ที่คุ้นหูกัน ไม่ว่าจะเป็น เบต้า, อัลฟา, แกมมา ไปจนถึง “เดลต้า” ที่กำลังระบาดอย่างหนัก แถมล่าสุดก็ตรวจพบ “Delta Plus (เดลต้าพลัส)” ที่เป็นไวรัสสายพันธุ์เลเวลอัพของ Delta ในไทยอีก! ได้ยินว่าเป็นขั้นกว่าของเดลต้าก็เริ่มร้อน ๆ หนาว ๆ กันแล้วใช่มั้ย? ทุกคนคงตั้งคำถามและนึกสงสัยกันใช่มั้ยว่า เชื้อโควิดสายพันธุ์ ‘เดลต้าพลัส’ นั้นคืออะไร ชื่อก็คล้าย ๆ กัน แล้วมันต่างจากเดลต้ายังไง ถ้าเกิดมันระบาดในไทยรุนแรงขึ้นมาจริง ๆ เราควรต้องรู้วิธีป้องกันและลดความเสี่ยงไม่ให้ติดโควิดอย่างไรบ้าง เราเลยรวบรวมไว้ในบทความนี้แล้ว ถ้าพร้อมแล้วก็ไปศึกษาด้วยกันได้เลย!
ทำความรู้จักกับ “Delta plus” สายพันธุ์อันตรายที่พัฒนาจากเดลต้า
โควิดสายพันธุ์เดลต้าพลัส หรือ Delta plus (B.1.617.21.1 หรือ AY.4.2) คือ โควิดที่กลายพันธุ์มาจากสายพันธุ์เดลต้า ที่เป็นการกลายพันธุ์ของโปรตีนหนามในไวรัส (K417N) และมีรหัสสายพันธุ์กรรมคล้ายสายพันธุ์เบต้า อีกทั้งสายพันธุ์นี้จัดอยู่ในตระกูลโคโรนาลำดับที่ 7 ประเภทไวรัสแบบอาร์เอ็นเอ (RNA) ที่เป็นสารพันธุกรรมเดี่ยว แถมกลายพันธุ์และแพร่ระบาดได้ง่ายกว่าแบบเดิมไปอีก..
ซึ่งเชื้อโควิดสายพันธุ์ใหม่นี้พบครั้งแรกที่แถบยุโรปเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ต่อมาพบที่ประเทศอินเดียหลังจากนั้นเพียงหนึ่งเดือนเท่านั้น! ในปัจจุบันพบการแพร่ระบาดหลายประเทศทั่วโลก ตั้งแต่ญี่ปุ่น จีน ตุรกี สวิตเซอร์แลนด์ เนปาล เดนมาร์ก สหราชอาณาจักร สหรัฐอเมริกา ฯลฯ และในไทยก็พบไวรัสสายพันธุ์เดลต้ากับเขาด้วย เมื่อวันที่ 26 ต.ค.ที่ผ่านมา หนึ่งรายที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และยังไม่พบผู้ป่วยรายอื่นที่ติดเชื้อ ก็ถือว่าเป็นความโชคดีของเราไป
เชื้อโควิด-19 สายพันธุ์ “Delta และ Delta plus” เหมือน และต่างกันอย่างไร?
ใครที่อ่านมาถึงตรงนี้ก็คงพอเข้าใจแล้วว่าเชื้อโควิดสายพันธุ์ Delta plus และ Delta นั้นเหมือนเป็นญาติกัน หรือแฝดคนละฝา แต่เดลต้าพลัสเหมือนเป็นสายพันธุ์ขั้นกว่าอีกที งั้นเรามาพูดถึงส่วนที่เหมือนกัน และข้อแตกต่างกันของทั้งสองสายพันธุ์นี้กันดีกว่าว่ามีอะไรกันบ้าง
ส่วนที่เหมือนกันของเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์ Delta และ Delta plus
- – เป็นไวรัสโคโรนาชนิดอาร์เอ็นเอ (RNA) ที่ใช้สารพันธุกรรมแบบเดี่ยว
- – อาการของผู้ป่วยมักมีลักษณะเหมือนกัน คือ ไอแห้ง, เหนื่อยง่าย มีไข้คล้ายอาการหวัดธรรมดา บางครั้งอาจมีการหายใจได้สั้น หรือมีอาการปวดส่วนช่วงท้อง
- – จัดเป็นสายพันธุ์ที่เกิดการกลายพันธุ์ และแพร่พันธุ์ได้ง่าย
- – อัตราการป่วยจนต้องเข้าการรักษาที่โรงพยาบาลและอัตราการเสียชีวิตพอ ๆ กับสายพันธุ์เดลต้า
ข้อแตกต่างระหว่างเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์ Delta และ Delta plus
- – เป็นสายพันธุ์ที่แพร่พันธุ์ได้ง่ายกว่าเดลต้าถึงร้อยละ 17
- – ติดเชื้อได้ทุกเพศทุกวัย โดยเฉพาะเด็กและเยาวชน ที่ยังไม่ได้รับการฉีดวัคซีน (อ้างอิงจากการระบาดที่ประเทศอังกฤษ)
- – อัตราการติดเชื้อในครัวเรือนเพิ่มมากกว่าเดิมถึง 12 %
- – การกลายพันธุ์ของโปรตีนที่ตำแหน่ง K417 ของเดลต้าพลัส ทำให้สามารถหลบหลีกยาต้านไวรัส อย่าง ‘รีเจนโคลฟ์’ ที่เป็นยาต้านไวรัสที่ใช้ในอินเดีย มีผลต่อประสิทธิภาพยาลดลง หรือไม่ได้ผล
ฟังข้อแตกต่าง และข้อเหมือนของเชื้อไวรัสทั้งสองแบบแล้ว คงรู้สึกเชื้อเดลต้าพลัสเนี่ยดูอันตรายและน่ากลัวกว่าเดิมเลยใช่มั้ย? ใจล่ม ๆ กันก่อน! ถึงแม้จะเหมือนว่ายาต้านไวรัสจะไม่มีผล แต่ก็ไม่ได้บ่งบอกว่าเชื้อนี้จะทำให้เกิดอาการรุนแรงกว่าเชื้อเดลต้าแบบปกติ และผู้เชี่ยวชาญยังไม่ปักใจเชื่อว่าสายพันธุ์เดลต้าพลัส นั้นจะเกิดอาการรุนแรงกว่าเดลต้า
อีกทั้งประเทศอังกฤษที่มีข่าวการแพร่ระบาดของเดลต้าพลัส จากการพบผู้ติดเชื้อกว่า 6 % ทำให้ทางการของอังกฤษได้ออกมาจัดระดับของเดลต้าพลัสเป็น VUI (Variant Under Investigation) เพราะมีความสามารถในการระบาดเพิ่มขึ้น 15% แต่ยังไม่จัดให้อยู่ในระดับเชื้อไวรัสที่น่ากังวล VOC (Variant of Concern) เนื่องจากยังไม่มีข้อมูลที่เพียงพอด้านการดื้อวัคซีน และความรุนแรงในการก่อโรค ซึ่งทาง WHO ก็ยังคงให้ความสำคัญและจับตามองเชื้อโควิดสายพันธุ์เดลต้าพลัสนี้อยู่ โดยเฉพาะการแพร่ระบาดในอังกฤษ แต่จากการแพร่ระบาดที่พุ่งสูงขึ้นของอังกฤษก็มีการสันนิษฐานว่าอาจเกิดจากพฤติกรรมประชาชนร่วมด้วย เช่นแอบการ์ดตก ทำตัวชิล และใช้ชีวิตแบบเดิม ไม่ใช่สไตล์ New Normal ซึ่งในไทยเราก็ยังเป็นเหมือนกัน
เราเลยรวบรวมสารพัด 7 วิธีที่ช่วยเซฟตัวเอง และลดความเสี่ยงจากเชื่อโควิด-19 กันที่สามารถใช้ได้ทุกสายพันธุ์ที่ระบาดอยู่ตอนนี้เลยนะ! ซึ่งแบ่งได้ดังนี้
- สวมหน้ากากอนามัยทุกครั้งเมื่อออกจากบ้าน
ทุกวันนี้พอจะออกจากบ้านสิ่งที่จะลืมไปไม่ได้เลยคือ ‘หน้ากากอนามัย หรือ แมส’ จนเราแทบจะลืมชีวิตที่ไม่เคยใส่หน้ากากอนามัยไปแล้ว.. แต่อย่างว่าหน้ากากอนามัยที่เราใส่กันทุกวันนั้น เป็นเหมือนไอเทมที่ช่วยเราป้องกันเชื้อโควิด-19 ได้อย่างดีถ้าเปรียบเทียบก็เป็นเหมือนบอดี้การ์ดที่คอยตามดูแลความปลอดภัยเราไปทุกที่ เพราะ!! หน้ากากอนามัยนั้นสามารถป้องกันเชื้อโรคได้ถึง 95% เลยนะถ้าใส่แบบปิดสนิท ดังนั้นเราจึงควรใส่หน้ากากอนามัยทุกครั้งก่อนออกจากบ้าน และหมั่นเปลี่ยนด้วยเสมอ เพราะการที่เราใช้ซ้ำหลาย ๆ ครั้ง แมสที่ใช้เกิดการสะสมของเชื้อโรคหลาย ๆ ที่แถมหมักหมมไปอีก ดีไม่ดีอาจกลายเป็นเราติดเชื้อโควิด-19 จากแมสแทนนะ..
- ล้างมือสม่ำเสมอ และเลี่ยงการสัมผัสใบหน้า หู ตา จมูก
อย่างที่ทุกคนรู้กันว่ามือของคนเรานั้นในแต่ละวันผ่านการจับโน่นนี่นั่นมากมายสารพัดอย่าง ของใช้ส่วนตัว ไปจนถึงของใช้ส่วนรวม ทำให้มือของเรานี่แหละกลายเป็นแหล่งสะสมเชื้อโรคที่คาดไม่ถึงกันเลยทีเดียว! เราจึงควรหมั่นล้างมือทำความสะอาดให้ถูกวิธี หรือใช้แอลกอฮอล์คอยล้างมืออยู่เสมอ เลี่ยงการสัมผัสส่วนต่าง ๆ ของใบหน้าเพื่อป้องกันการติดเชื้อนั่นเอง
- ลดการออกไปข้างนอก เลี่ยงสถานที่แออัด และเว้นระยะห่างจากคนอื่น
มันก็คงเป็นเรื่องยาก ถ้าบอกว่าไม่ให้ออกจากบ้านเลย เพราะคนเรามันต้องกินต้องใช้ แถมอยู่แต่ในบ้านก็มีหวังเฉาตายพอดี แถมตอนนี้มีนโยบายเปิดประเทศแล้วบอกเลยว่า พร้อมแพ็กกระเป๋าไปเที่ยวกันมากกก เตรียมเที่ยวกันแน่นอน ใครที่ไปเที่ยวก็อย่าเผลอการ์ดตกนะ ไปที่ไหนก็คอยเว้นระยะห่างจากคนอื่น อย่างน้อย 1.5 – 2 เมตร เลี่ยงการอยู่ในที่แออัด และลองหากิจกรรม หรือลดจำนวนวันที่ไปเที่ยวดู เพื่อลดความเสี่ยงในการติดเชื้อ
- แยกใช้ของส่วนตัวกับผู้อื่น และไม่ใช่ร่วมกับผู้อื่น
“ช้อนกลาง” ตอนนี้ก็เอาไม่อยู่! ใครสงสัยว่าทำไม ลองคิดภาพตามเราถ้ามีคนติดเชื้อเผลอไอใส่มือแล้วมาใช้ช้อนกลางตักอาหาร แทนที่จะดีกลับกลายเป็นติดกันทั้งวงเลยนะแบบนั้น ดังนั้นเราจึงควรแบ่งของใช้ของใครของมันไปเลย เช่น จานชามเราก็แยกไปเซตนึง แล้วใช้แต่อันนั้นคล้าย ๆ กับการทำ Home isolation รวมถึงลดการกินอาหารพร้อมหน้าพร้อมตาแบบใกล้ชิด แต่ลองปรับให้นั่งห่างกันคนละมุม อาจจะเหมือนเหงาหน่อย แต่เพื่อความปลอดภัยของทุกคน และถือเป็นการใช้ชีวิตสไตล์ New Normal ไปในตัวด้วยเนอะ
- เลือกทานอาหารที่ร้อน หรือปรุงสุกใหม่ๆ
รู้รึเปล่าว่า ถ้าอยากฆ่าเชื้อโควิด-19 ต้องใช้ความร้อนสูงถึง 60 องศาเซลเซียสเลยนะ หรือมองง่าย ๆ ก็คือการที่เรากินอาหารปรุงสุกใหม่ ๆ นี่เอง เลี่ยงการกินของดิบ เช่น ลาบก้อย, แซลมอนดิบ แหนม ฯลฯ ฮึบกันไปก่อนเพื่อความเซฟตี้ของเรา
- ไอหรือจาม ให้ปิดจมูกและปากด้วยข้อพับด้านในซอก ห้ามใช้มือ
พอเราไอ หรือจามแต่ละที คนรอบข้างก็เลิ่กลั่กกันไปหมด รวมถึงตัวเราเองด้วย ที่แอบหวั่นๆ และคอยเฝ้าถามตัวเองอยู่ทุกวันว่า หรือเราจะโควิด-19 แล้ว? ใจเย็นกันก่อน! การไอและจามนั้นมีได้หลายสาเหตุ เช่น มีสิ่งแปลกปลอมระคายคอ เพราะฝุ่นควัน ละอองเกสร หรืออาการของภูมิแพ้ แต่ทางที่ดี เวลาเราไอ หรือจามก็ควรปิดจมูกและปากด้วยข้อพับข้อศอกด้านใน แทนที่จะใช้มือเนอะ เพราะถ้าใช้มือ แล้วเราติดเชื้ออาจจะทำให้เกิดการแพร่เชื้อโดยไม่รู้ตัวได้นะ
- หมั่นตรวจเช็คอาการของตนเอง
ข้อสุดท้ายที่สำคัญที่สุดไม่แพ้กัน คือการคอยสำรวจเช็คอาการของตัวเองว่ามีอาการผิดปกติรึเปล่า เช่น มีอาการไอ จาม ไข้ขึ้น ปวดหัว มีน้ำมูก ตาแดง หรือการสูญเสียประสาทการดมกลิ่น ซึ่งเชื้อโควิด-19 ในแต่ละสายพันธุ์นั้นมีอาการที่แตกต่างกัน ถ้าเราเข้าข่ายอาการในนี้ก็อย่าลืมรีบไปทำรักษาและปรึกษาแพทย์จะดีกว่า เพื่อจะได้รับรักษาอย่างทันท่วงที
โควิด-19 สายพันธุ์ Delta Plus นั้นพึ่งมีมาใหม่ไม่นานมากนัก ถึงแม้จะมาจากตระกูลเดียวกับเดลต้า และญาติห่าง ๆ กับเบต้า แต่ก็ยังไม่มีงานวิจัยรองรับ และมีหลายหน่วยงานหลากหลายที่ เช่น WHO, ICMR (The Indian Council of Media Research) ฯลฯ ที่ทำการวิจัยศึกษาความรุนแรงของอาการ รวมถึงการดื้อยาและการต้านวัคซีนว่าเป็นอย่างไร ตอนนี้เราคงทำได้เพียงติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด อย่าการ์ดตกเซฟตัวเองใช้ชีวิตสไตล์ New Normal กันต่อไป หากอยากรู้ข้อมูลเพิ่มเติมดี ๆ เกี่ยวกับการป้องกันตัวเองในช่วงสถานการณ์โควิดแบบนี้อีก ก็สามารถดูเพิ่มเติมได้ที่ Link
ติดต่อสอบถาม
FB : m.me/wecleanvr
Line@ : @wecleanvr (มี @ข้างหน้าด้วย)
Source: matichon